Thai Society for Affective Disorders; TSAD TSAD

โรคจิตเภท (Schizophrenia)

รายละเอียด

โรคจิตเภท (Schizophrenia)

วันที่ 30 ต.ค. 2562

โรคจิตเภท (Schizophrenia)

ถ้าใครได้โอกาสดูหนังเรื่อง A beautiful mind ที่รัสเซลล์ โคลล์ (เรื่องนี้เขาได้เข้าชิงออสการ์สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม) สวมบทเป็นพระเอกชื่อ จอห์น แนช ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ที่เก่งมาก ที่ตอนหลังสามารถคว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์มาครองได้ ในปี ค.ศ. 1994

แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความไม่สบายของพระเอกในเรื่องคือ เขาป่วยป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) ซึ่งมีอาการบางอย่างที่ทำให้บางครั้งเขาไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความจริงช่วงหนึ่ง และ ทำให้คนรอบข้างลำบากใจในการใช้ชีวิตร่วมด้วย

แต่เมื่อได้เข้าสู่การรักษา คนรอบข้างที่เข้าใจ รวมทั้งตัวเขาเองด้วยที่เข้าใจอาการที่เกิดขึ้นทำให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ อยู่กับครอบครัวได้ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานจากความสามารถที่เขามีได้อย่างเต็มที่อีกครั้งหนึ่ง

ในบทความนี้ จะกล่าวถึงลักษณะของโรคนี้ สาเหตุการเกิดโรค แนวทางการรักษาของแพทย์ และแนวทางการดูแลของญาติ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นค่ะ

10151979_507640096006678_1985528088_n

โรคจิตเภท (Schizophrenia)
คือ ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางความคิด พฤติกรรม และ ความรู้สึก จึงทำให้มีผลเสียด้านการดำเนินชีวิตชัดเจน โดยโรคนี้มีลักษณะเรื้อรัง

อาการที่พบได้มีดังต่อไปนี้
1. ความผิดปกติทางความคิดคือ อาการหลงผิด (delusion) เช่นหลงผิด หวาดระแวงว่าจะมีคนคอยจับผิด ติดตาม นินทา ทำร้ายเขา เลียนแบบเขา หรือ หลงผิดคิดว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญ เป็นเทพ เป็นเจ้าชาย เจ้าหญิง เป็นบุคคลสำคัญกลับชาติมาเกิด เป็นต้น

2. ความผิดปกติทางการปรับรับรู้ (hallucination) คือ ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน (hallucination) ได้ยินเสียงหูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาพูดคุยด้วย หรือ มักได้ยินเสียงคนวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ได้เห็นตัวคนพูดชัดเจน

3. ความผิดปกติด้านพฤติกรรม คือ แสดงลักษณะพฤติกรรม บุคลิกท่าทาง ไม่เหมาะสม เช่น วุ่นวายกว่าปกติ พูดจาเนื้อหาแปลกๆ จับใจความได้ยาก หรือนิ่งเฉยมากผิดปกติ เช่น ไม่ขยับตัว ไม่ขยับแขนขา ไม่ยอมลุกไปไหน นอนแข็งนิ่งตลอดทั้งวัน หรือ แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม ไม่เข้ากับบริบทที่อยู่ เช่น เดินไหว้ เดินกราบ สิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา พูดพึมพำ พูดโต้ตอบคนเดียว ยิ้มหัวเราะอยู่คนเดียว เป็นต้น  หรือมีอาการไม่ค่อยดูแลสุขอนามัยความสะอาด เช่น ไม่อาบน้ำ ไม่ทำความสะอาดร่างกาย ไม่ดูแลเสื้อผ้าหน้าผม อย่างที่ควรจะเป็น ปล่อยปละละเลยจนดูสกปรก เป็นต้น

4. ความผิดปกติด้านความรู้สึก เช่น ไม่แสดงอารมณ์ หรือ การแสดงออกของอารมณ์น้อยกว่าปกติ หรือ มีลักษณะเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น (avolition) ขาดแรงจูงใจในชีวิต
หรือ แสดงอารมณ์ออกมาไม่เหมาะสมกับเรื่องราว หรือ บริบทที่อยู่รอบตัว
หรือ อาจแสดงอารมณ์ก้าวร้าวมากกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่มีความคิดหวาดระแวง

5. ความผิดปกติด้านสังคมหรือหน้าที่การงาน ตั้งแต่เริ่มเจ็บป่วย กิจกรรมด้านสำคัญๆ ของผู้ป่วยบกพร่องลงจากระดับเดิมก่อนป่วยอย่างชัดเจน อย่างน้อยหนึ่งด้านขึ้นไป เช่นการเรียน การงาน สัมพันธภาพกับผู้อื่น ชอบเก็บตัว ไม่เข้าสังคม หรือ การดูแลตนเองแย่ลง

6. ระยะเวลาที่เจ็บป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการของความผิดปกติอย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่อเนื่องมาเป็นปี หรือ หลายปี

พบได้ 0.5-1 % ในประชากรทั่วไป
อายุที่มักเริ่มป่วยคือ ช่วง 15-24 ปี ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการช่วงวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ตอนต้น

สาเหตุการเกิดโรค
1. สาเหตุด้านร่างกาย ปัจจุบันพบว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรค คือ
1).ปัจจัยด้านพันธุกรรม ญาติของผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทสูงกว่าประชากรทั่วไป ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดมากยิ่งมีโอกาสสูง เช่น มีพ่อและแม่ที่ป่วยเป็นโรคนี้ลูกมีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป 40 เท่า หรือ มีพี่น้องป่วยเป็นโรคนี้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป 8 เท่า เป็นต้น

2).ปัจจัยด้านสมอง เช่น ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง
เช่น สารโดปามีน สารซีโรโตนิน หรือ ลักษณะกายวิภาคของสมองผิดปกติ เป็นต้น

2. สาเหตุด้านจิตใจและสังคม
ปัจจุบันมองว่า ความเครียด หรือ สาเหตุด้านจิตใจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรค
โดยพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเป็นผลจากด้านร่างกาย เช่น พันธุกรรม หรือ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ดังที่ได้กล่าวข้างต้น
แต่ ปัจจัยด้านจิตใจ ครอบครัว และ สังคม เป็นปัจจัยที่ทำให้โรคนี้หายช้า หรือ กำเริบได้

1). ปัจจัยทางด้านครอบครัว
– ลักษณะครอบครัวที่มีผลต่อการกำเริบของโรคคือ ครอบครัวที่มีลักษณะ การใช้อารมณ์ต่อกันสูง (high express-emotion) คือ ครอบครัวที่มีลักษณะชอบตำหนิวิพากษ์วิจารณ์กัน ด่าทอกัน มีท่าทีไม่เป็นมิตรใส่กัน หรือ มีลักษณะจู้จี้จุกจิกยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยมากเกินไป

– ครอบครัวที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเจ็บป่วย หรือ มีฐานะยากจน อาจทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ไม่เต็มที่ เช่น ไม่เข้าใจความเจ็บป่วยของผู้ป่วย ทำให้ก่นด่า หรือ ทะเลาะเบาะแว้งกับอาการหลงผิดของผู้ป่วย ไม่พาผู้ป่วยมารับการรักษา หรือ ไม่มีเวลาดูแลให้ผู้ป่วยได้รับประทานยาต่อเนื่อง หรือ ไม่มีเงินที่จะรักษาผู้ป่วยต่อเนื่อง เป็นต้น

2) ปัจจัยด้านสังคม
สังคมที่ไม่เข้าใจความเจ็บป่วยของผู้ป่วย มีท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์ผู้ป่วย หรือ พูดจาด่าว่า ดูถูก ผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกตึงเครียด และเป็นผลทำให้โรคกำเริบได้ง่ายกว่าการอยู่ในสังคมที่เข้าใจเรื่องความเจ็บป่วย และ ยอมรับผู้ป่วยในฐานะคนๆหนึ่งที่มีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนคนทั่วไป

3) ปัจจัยด้านความตึงเครียด
แนวคิดที่ว่าคือ stress-diathesis model ซึ่งเชื่อว่าผู้ป่วยนั้นมีแนวโน้มหรือจุดอ่อนบางอย่างอยู่แล้วที่จะป่วยเป็นโรคนี้ แต่เมื่อพบกับสภาพกดดันบางประการทำให้เกิดอาการของโรคจิตเภทขึ้นมา

การรักษา
โรคนี้รักษาให้มีอาการดีขึ้นได้ หลายคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ หรือ หลายคนอาจไม่กลับมาเท่าปกติ แต่ก็สามารถดูแลตนเอง และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

การรักษาประกอบด้วย 2 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านร่างกาย และ ด้านจิตใจ
1. การรักษาด้านร่างกาย
1). การรักษาด้วยยา
เพื่อควบคุมอาการ ปรับความคิด ปรับพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสม ให้กลับมาปกติเหมาะสม กลับมาอยู่ และ รับรู้โลกตามความเป็นจริงๆมากขึ้น
เนื่องจากความเจ็บป่วย คือ อาการหลงผิด หรือ อาการหูแว่ว ทำให้ผู้ป่วยหลายครั้งไม่ได้รับรู้โลกตามความเป็นจริง ผู้ป่วยจะหลุดและหลงไปตามอาการความคิดหลงผิด หรือ อาการหูแว่ว ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น จนก่อให้เกิดปัญหาต่อตนเองและผู้อื่น

จุดหมายของการรักษาคือทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมารับรู้โลกตามความเป็นจริง

เนื่องจากสาเหตุของโรคนี้ เกิดขึ้นจากสาเหตุด้านร่างกาย คือ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองบางชนิดดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
การที่ผู้ป่วยได้รับยาที่เข้าไปช่วยปรับการทำงานสารสื่อประสาทเหล่านี้ให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติ จะเป็นตัวหลักในการช่วยลดความผิดปกติของอาการต่างๆได้

โดยยามี 3 รูปแบบหลักๆคือ รูปแบบยาเม็ด รูปแบบยาน้ำ และ รูปแบบยาฉีด ซึ่งการได้รับยารูปแบบใด ขึ้นกับลักษณะความเจ็บป่วยของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ที่ดูแลจะเป็นผู้พิจารณา

สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง ทานยาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าทานยาแล้วมีผลข้างเคียงปรึกษาแพทย์ที่ดูแล แต่ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้นโรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง การรักษาที่จะปรับให้สารสื่อประสาทให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ ต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป และต้องได้รับยาเข้าไปช่วยปรับสารในสมองอย่างต่อเนื่อง มีงานวิจัยที่พบว่า เมื่อมีอาการดีและผู้ป่วยหยุดยาเองอาการกลับมากำเริบได้ เนื่องจากสารสื่อประสาทกลับมาทำงานผิดปกติ ทำให้ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตด้านต่างๆ เช่น ด้านการเรียน การทำงาน และ การเข้าสังคม

การลดยาหรือหยุดยา ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา ไม่ควรลดเอง หรือ หยุดเอง
แต่ถ้ามีปัญหาใดๆที่เกิดจากการทานยา สามารถปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษา

สิ่งหนึ่งที่ถือว่า โชคดีสำหรับคนยุคนี้ คือ ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาโรคนี้มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง มียารักษาโรคนี้อยู่หลายชนิด เพิ่มตัวเลือกในการใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนได้มากขึ้น ทำให้มียาที่ออกฤทธิ์รักษาได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ และ ผลข้างเคียงบางชนิดน้อยกว่ายาในยุคก่อนๆ ซึ่งถ้าเทียบกับ ยุคสมัยของ จอห์น แนช นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบล ในเรื่อง a beautiful mind ที่มียารักษาโรคนี้อยู่ไม่กี่ชนิดจึงพบว่าคนยุคนี้ โชคดีกว่านักค่ะ

2). การรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ในกรณีดังต่อไปนี้
1. มีพฤติกรรมเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น
2. มีปัญหาความเจ็บป่วยที่ต้องดูแลใกล้ชิด
3. ควบคุมการกินยา ในผู้ป่วยไม่ยอมกินยาและญาติดูแลไม่ได้

3). การรักษาด้วยไฟฟ้า(ECT)
มักใช้ในผู้ป่วย ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือ มีลักษณะซึมเศร้ามากๆร่วมด้วย

2. การดูแลรักษาด้านจิตใจ และ สังคม
1). การรักษาด้านจิตใจและสังคม
เป็นส่วนสำคัญมาก เนื่องจากอาการป่วยทำให้มีผลกระทบกับชีวิตผู้ป่วย ครอบครัวและสังคมมาก และ ความตึงเครียดส่งผลให้โรคกำเริบได้ จึงควรให้ความสำคัญเพื่อช่วยให้ผู้ป่วย ครอบครัว และ สังคม อยู่กันได้อย่างเข้าใจ มีความสุข และลดความตึงเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ

2).การฟื้นฟูทักษะ
การฝึกดูแลตัวเอง การเข้าสังคม และ การฝึกอาชีพที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความภูมิใจในตัวเองของผู้ป่วย เพิ่มรายได้ ลดการเป็นภาระต่อผู้ใกล้ชิดและสังคมได้
เช่นทำกลุ่มบำบัด การทำกิจกรรมโรงพยาบาลภาคกลางวัน แก่ผู้ป่วยที่อาการคงที่ การให้ผู้ป่วยฝึกทักษะ อาชีพง่ายๆ ที่ผู้ป่วยพอมีความชอบหรือความถนัด

3).รับคำแนะนำและปรึกษาจิตแพทย์
จิตแพทย์สามารถเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ครอบครัว และ ชุมชมที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของผู้ป่วย วิธีการดูแลผู้ป่วย

3.บทบาทของผู้ดูแล เป็นเรื่องที่สำคัญมากค่ะ
หลายครั้งพบว่า การดูแลที่เหมาะสมส่งผลให้ความรุนแรงของโรคน้อยลงได้ค่ะ รายละเอียดดังนี้ค่ะ

1). มุมมองและการยอมรับผู้ป่วย
• อาการที่เป็นปัญหาของผู้ป่วย เช่น พฤติกรรม ความคิดที่ไม่เหมาะสม เกิดขึ้นเพราะผู้ป่วยมีความเจ็บป่วย
• ผู้ป่วยทุกคนมีความหมายและคุณค่าในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับคนทั่วไป
• มองเห็นศักยภาพ จุดดีที่ผู้ป่วยมี
• มีเจตคติและความปรารถนาที่ดีกับผู้ป่วย

2). แนวทางการปฏิบัติ
• ควรเน้นที่สัมพันธภาพในการรักษา รับฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ไม่โต้แย้งคัดค้านอาการหลงผิดของผู้ป่วยว่าไม่เป็นจริง ขณะเดียวกันไม่เข้าข้าง หรือแสดงท่าทีสนับสนุนความเชื่อของผู้ป่วย และ หันเหความสนใจผู้ป่วยไปทำสิ่งอื่นๆที่เหมาะสมแทน
• การรักษามุ่งเน้นที่การปรับตัวของผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยพออยู่ในสังคมได้ มีการปรับตัวที่ดีในระดับหนึ่ง แม้จะยังมีอาการหลงผิด หรือ พฤติกรรมแปลกๆ อยู่บ้าง
• เมื่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือความคิดที่เหมาะสม ให้ชมเชย เพื่อเป็นกำลังใจ เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดการเรียนรู้และต้องการทำสิ่งนั้นบ่อยๆ
• เมื่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือความคิดไม่เหมาะสม ให้บอกผู้ป่วยทันที โดยใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์
• ไม่คาดหวังกับผู้ป่วยสูงมากนัก ว่าผู้ป่วยจะเข้าใจสิ่งต่างๆได้อย่างดี เพราะผู้ป่วยเข้าใจเท่าที่พวกเขาสามารถ

โรคนี้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หรือใกล้เคียงคนทั่วไปได้ ถ้าผู้ป่วย และ ญาติ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ และ เข้าใจแนวทางการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการให้เกียรติ ให้การยอมรับ และให้ความเข้าใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางจิตใจและกำลังใจที่ดีให้กับผู้ป่วยได้มากค่ะ

บทความโดย ผศ.พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  รพ.รามาธิบดี

ภาพจาก : http://www.drjack.co.uk/tag/negative-symptoms/